สงบใจที่ วัดป่าเชิงเลน สถานปฏิบัติธรรมกลางกรุง

วัดป่าเชิงเลน ตั้งอยู่ใน ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 แอบซ่อนมนต์ขลังแห่งศรัทธา อยู่กลางกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วยความสงบร่มรื่นของธรรมชาตินานาพันธ์ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม , นั่งสมาธิ เพื่อผ่อนคลายทั้งกายและใจ ความพิเศษของ

แผนที่วีด

วัดแห่งนี้ คือ อุดมไปด้วยต้นไม้และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางพุ่มไม้ เช่น อุโบสถหลังเล็ก , ศาลากลางน้ำ , ศาลาร่วมใจ เป็นต้น ผู้ดูแลวัดมีเพียงพระสงฆ์กับสามเณรเท่านั้น วัดป่าเชิงเลนเหมาะกับการมาปฏิบัติธรรมเพื่อละความทุกข์ทั้งปวง

วัดป่าเชิงเลน มีอายุมาไม่ต่ำกว่า 200 ปี โดยสภาพวัดในครั้งอดีตมีสภาพหักพังเพราะถูกปล่อยให้รกร้างมานาน เมื่อตรวจสอบอิฐรวมทั้งวิธีการก่อสร้าง จึงพบว่าเป็นรูปแบบเดียวกันกับในสมัยอยุธยา วัดแห่งนี้ประสบปัญหา ระดับน้ำในคลองขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ในฤดูน้ำหลากก็จะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จึงทำให้พื้นดินทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จนสิ่งปลูกสร้างพังทลายลง ถึงแม้จะพยายามฟื้นฟูหลายครั้ง หากแต่ไม่นานสิ่งปลูกสร้างก็จะพังทลายลงไปอีก จึงถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมาเป็นร้อยปี

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2532 เมื่อพระอาจารย์อุทัย (ติ๊ก) ฌานุตฺตโม พระป่าสายอีสานลูกศิษย์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ธุดงค์มาพบวัดร้างแห่งนี้ด้วยความบังเอิญ สภาพที่ท่านพบเห็น คือ เกิดบึงกว้างใหญ่ขึ้น กลางบึงเกิดเป็นต้นอ้อขึ้นสูงกว่าที่อื่น มีซากกำแพงบางส่วนโผล่พ้นน้ำเพียงแค่นิดเดียว และยังพบพระพุทธรูปเศียรขาด 3 องค์ ที่ถูกลักลอบตัดไปนานแล้ว ท่านจึงมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการจะบูรณะวัดแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นสถานปฏิบัติธรรม จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปีพ.ศ. 2533 พร้อมตั้งชื่อว่า วัดป่าเชิงเลน เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในวัดแห่งนี้ จึงมีกิจวัตรแบบเดียวกับพระป่า นั่นคือ ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว และปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด

การปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าเชิงเลน ปราศจากพิธีกรรม ปราศจากการบวชชีพราหมณ์ ปราศจากการปฏิบัติธรรมแบบค้างคืน เพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งยังไม่มีที่พักค้างคืนสำหรับผู้หญิง หากแต่เดินทางมานั่งสมาธิ แบบไปเช้าเย็นกลับได้ ไม่ยึดติดกับพิธีกรรมมากจนเกินไป โดนสอนว่าทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นจากจิตใจของเราเอง ขอเพียงตั้งมั่นในจิตอย่างแนวแน่ว่าจะถือศีลก็เพียงพอแล้ว ไม่บังคับว่าผู้มาปฏิบัติธรรมจะต้องปฏิบัติในแนวใด ใครศรัทธาทางใดก็ปฏิบัติตามทางนั้น เพราะไม่ว่าจะปฏิบัติสายไหนก็มีจุดมุ่งหมาย คือ การกำจัดความทุกข์ละกิเลสให้หมดสิ้น